GHS

การนำระบบสากลการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการติดฉลากที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก

(Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals; GHS)

มาใช้ปฏิบัติกับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข
            ประเทศไทยได้​กำหนดนโยบายนำระบบสากลการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดี​ยวกันทั่วโลก หรือระบบ GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ มาใช้ปฏิบัติกับสารเคมีและผลิตภัณฑ์เคมี ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535โดยครอบคลุมวัตถุอันตรายทางอุตสาหกรรม วัตถุอันตรายทางการเกษตร และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการประกาศใช้ระบบ GHS เป็นกฎหมาย กับวัตถุอันตรายในภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จสำหรับสารเดี่ยว (substance) เป็นเวลา 1 ปี และสำหรับสารผสม mixture) เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ​
​            สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบการกำกับดูแลวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จึงได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเตรียมความพร้อมด้านระบบงานและปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องตามระบบ GHS การรวบรวมฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และการจัดทำฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ตามระบบ GHS ตลอดจนการดำเนินการพัฒนา ศักยภาพผู้ประกอบการวัตถุอันตรายและเจ้าหน้าที่ให้มีควา​มรู้ความเข้าใจและสามารถนำระบบ GHS มาใช้ในการสื่อสารความเป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้อง             ทั้งนี้ คาดว่าระบบ GHS จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายกับวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขได้ภายในปี พ.ศ.2555 – 2556 โดย กำหนดระยะเวลาดำเนินการแล้วเสร็จสำหรับสารเดี่ยว เป็นเวลา 1 ปีและสำหรับสารผสม (mixture) เป็นเวลา 5 ปี นับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ตัวอย่างวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยว เช่น วัตถุดิบกำจัดแมลงชนิด technical grade และส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ใน
บ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขจัดเป็นสารผสม​